การตัดต่อยีน...สำคัญไฉน
http://www.jobpub.com/articles/showarticle.asp?id=19
การถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับ "พันธุวิศวกรรม" ได้เกิดขึ้นทั่วโลก เกือบทุกหนทุกแห่ง ร้อนระอุไปด้วยข้อคิดเห็นที่ตรงข้ามกันจากฝ่ายต่างๆ คนบางกลุ่มเห็นว่าเป็นการท้าทายกับ ธรรมชาติที่เป็นอันตราย ในขณะที่อีกฝ่ายก็โต้แย้งอย่างแข็งขันว่า นี่แหละคือกุญแจดอกสำคัญ ที่จะไขเข้าไปสู่หนทางที่จะลด ความทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ และหนทางแก้ปัญหา เรื่องความอดอยาก ขาดแคลนอาหารของมนุษยชาติ ประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาในเรื่อง ต่างๆ ดังกล่าวควรมีทัศนะต่อ เทคโนโลยีชีวภาพในด้านนี้อย่างไร ?
ย้อนเวลาหาอดีต ยุคปาสเตอร์และเมนเดล
ย้อนหลังไปในปี ค.ศ. 1885 หนูน้อยโจเซฟ ไมสเตอร์ (Joseph Meister) วัยเพียง 9 ขวบ ได้กลายเป็นผู้โชคร้ายเพราะถูกสุนัขบ้ากัด มารดาของโจเซฟได้พยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือลูกชาย ในที่สุดเธอได้ไปพบ หลุยส์ ปาสเตอร์ ผู้ซึ่งกำลังสนใจการทดลองวัคซีนแก้โรคพิษสุนัขบ้าอยู่ในขณะนั้น และขอร้องให้เขาฉีดวัคซีนแก่โจเซฟ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้มาจากเชื้อไวรัสตัวก่อโรค แต่ถูกปาสเตอร์ทำให้ อ่อนแอลงไปมากแล้ว ถึงแม้จะเป็นการเสี่ยงไม่น้อยเลย แต่ทว่ามันได้ผลดีจริงๆ แทบไม่น่าเชื่อตั้งแต่นั้นมา ผู้คนอีกนับล้านในโลกนี้พลอยได้อานิสงค์จากเรื่องดังกล่าว พวกเขารอดชีวิตมาได้จากโรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ ก็เพราะวัคซีนที่ผลิตมาจากหลักการเดียวกันกับที่ปาสเตอร์ใช้กับหนูน้อยโจเซฟนั่นเอง หลายสิบปีก่อนหน้านั้น เกรเกอร์ เมนเดล (Gregor Mendel) นักพันธุศาสตร์มีชื่อเสียง ได้ทำการ ทดลองผสมพันธุ์พืชตระกูลถั่ว และค้นพบองค์ความรู้ใหม่เรื่องหน่วยทางพันธุกรรมและการถ่ายทอด ลักษณะทางพันธุกรรม นับเป็นการค้นพบที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของศตวรรษที่ 19 แต่น่าเสียดายที่ ไม่มีใครเห็นความสำคัญจนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 มาเยือน เมื่อได้มีนักพฤกษศาสตร์กลุ่มหนี่งได้ค้นพบ ทฤษฏีดังกล่าวใหม่อีกครั้ง ซึ่งตรงกับผลงานของเมนเดลที่ผ่านมาทั้งหมด อันเป็นการยืนยันถึงความถูกต้อง ในทฤษฏีทางพันธุศาสตร์ของเมนเดล ในศตวรรษที่ 19
หมุนเวลาเข้าสู่ยุคปัจจุบัน ค.ศ. 2000
ยุคนี้เมื่อเอ่ยถึง "ยีน" คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีว่าหมายถึง หน่วยย่อยทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต หรือ รหัสชีวิต ปัจจุบัน ศาสตร์ในการผลิตวัคซีน การปรับปรุงพันธุ์พืชและชีววิทยาทุกแขนง รวมทั้ง การแพทย์ต้องอาศัยกระบวนการโยกย้ายถ่ายเท่ยีนมากยิ่งขึ้นทุกที ปาสเตอร์และเมนเดลอาจถูกเรียกว่าเป็น "วิศวกรชีวิต" เพราะว่าเขาทั้งสองคนได้พยายาม เสาะแสวงหาความรู้ ความเข้าใจ และวิธีการปรับเปลี่ยนสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ เพื่อสนองตอบต่อ ความต้องการของมนุษย์ ปาสเตอร์และเมนเดลเปรียบดั่งยักษ์สองตน ที่ยืนแบกรับน้ำหนักของบรรดาวิศวกรด้านพันธุศาสตร์หรือ นักพันธุวิศวกรรมในยุคนี้ที่ได้อาศัยพวกเขาเป็นฐานให้ได้ประโยชน์ ต่างๆ มากมายในขณะที่นักวิทยาศาสตร์สาขาพันธุศาสตร์ในปัจจุบันพยายามที่จะทำเช่นเดียวกับปาสเตอร์ และ เมนเดลนั้น พวกเขาได้เปรียบ ในเรื่องความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับยีน จุลินทรีย์ พืช และสิ่งแวดล้อม มากกว่า บรรดานักพันธุวิศวกรรมในศตวรรษ 2000 ต้องเสี่ยงมากกว่าในการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ โดยบังเอิญ ซึ่งพวกเขาไม่สามารถรู้ล่วงหน้าและควบคุมได้กระนั้นหรือ ?? พวกเขากำลังเป็นดั่งศิษย์ฝึกงานของเหล่าพ่อมดหมอผีที่มีอำนาจเนรมิตได้ยิ่งกว่า ปาสเตอร์ และ เมนเดล อย่างนั้นหรือ ??
ตัดออกแล้วติดใหม่กับเทคโนโลยีในการผสมแล้วคัดแยก
พวกนักพันธุวิศวกรรมเขาทำอะไรกัน? ถ้าจะเปรียบเทียบให้เข้าใจได้โดยง่ายก็คือ พวกเขา ทำงานด้านชีววิทยาของการตัดยีนและนำไปติดไว้อีกที่หนึ่งซึ่ง คล้ายกับการตัดต่อเนื้อหาในงานเขียนหนังสือทั่วไป ที่ต้องมีการแก้ไข ลบทิ้ง เอาตรงนี้ไปปะติดตรงโน้นนั่นเองยีนเป็นเสมือน "คำสั่ง" ที่สั่งการให้สิ่งมีชีวิตมีลักษณะตามพันธุ์ ของมันและอยู่ในรูปของสารเคมี ซึ่งเรารู้จักกันดีในชื่อของ ดีเอ็นเอ ยีนจะเป็นตัวสั่งการสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดว่าจะมีรูปร่าง หน้าตาอย่างไร จะสร้างหรือผลิตอะไรออกมา ยีนสั่งได้แม้แต่ว่า เมื่อไรจึงจะแก่ และตายเสียที !!!
ตัวอย่างเช่น นักพันธุวิศวกรรมอาจจะตัดยีนอย่างหนึ่งจาก แบคทีเรีย ซึ่งสามารถสั่งให้ฆ่าแมลงชนิดหนึ่งได้ แล้วก็นำไปติด ไว้ในยีนของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง เช่น พืช ซี่งจะทำให้พืชชนิดนั้น กลายเป็นพืชที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถผลิตสารที่ฆ่าแมลงได้ด้วยตัวเอง ด้วยวิธีการนี้ พืชชนิดใหม่ที่เราสร้างหรือผลิตขึ้น เรียกว่า พืชข้ามพันธุ์ (transgenic plant) ซึ่งไม่ต้องการ สารฆ่าแมลงหรือสารเคมีปราบศัตรูพืชอีกต่อไป
ผลประโยชน์มหาศาลที่มีศักยภาพสูงนี้จะได้มาจากการใช้เทคโนโลยีตัดต่อยีนดังที่กล่าวมาแล้ว อันที่จริงมันเป็นการเริ่มต้นของยุคปฎิวัติ และการปฏิวัติแรกก็คือในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และตามมาด้วยการเกษตร สิ่งนี้คือ เทคโนโลยีชีวภาพ ที่เราเรียกกันอยู่ในปัจจุบัน เราสามารถนำ เทคโนโลยีชีวภาพไปใช้สำหรับการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์และจุลินทรีย์เพื่อให้เกิด ประโยชน์แก่มวลมนุษย์ ปัจจุบันเราผลิตสิ่งที่ต้องการ ได้จากยีน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร ยารักษาโรค ฯลฯ ยีนคือตัวที่ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ เหล่านั้นขึ้นมาเอง แม้กระทั่งโรคทางพันธุกรรมที่เคยเป็นปัญหามาโดยตลอด เราก็รักษาโรคนี้ได้ ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ โดยการสร้างยีนขึ้นมาใหม่จากการตัดต่อ เพื่อให้ทำหน้าที่แทนยีนที่มี ปัญหา ซึ่งเราเรียกวิธีการรักษา แบบนี้ว่า การรักษาด้วยยีน
ก่อนหน้าที่นักพันธุวิศวกรรมจะประสบผลสำเร็จกับพืช สัตว์ และมนุษย์นั้น ได้มีการปรับปรุง และ พัฒนาวิธีการมาโดยตลอด ในอดีต ด้วยการพยายามผสมพันธุ์แล้วผลมพันธุ์เล่า ซึ่งเป็นกระบวนการ ที่ใช้เวลาอันยาวนานทีเดียว การคัดเลือกพันธุ์ เช่น พืชผัก เพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีลักษณะพิเศษ เป็นสุดยอด หรือให้ได้แม่วัวนมพันธุ์ดีซึ่งเวลานี้เราคิดว่าเป็นเรื่องของธรรมชาตินั้น ในความเป็นจริง ก็คือ มีการผสม ยีนดีๆ จากพ่อแม่เข้าไปในรุ่นลูกนั่นเอง ลูกได้ยีนมาจากพ่อและแม่ อย่างละครึ่ง มันเป็นเรื่องของ การโยกย้ายถ่ายเทยีนโดยแท้
วิธีการลองผิดลองถูกอย่างนี้บางครั้งก็ทำให้เราได้ยีนชุดใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งสามารถสั่งให้รุ่นลูก มีคุณสมบัติหรือ ลักษณะพิเศษ หรือให้มีคุณภาพดังปรารถนา แต่ส่วนใหญ่แล้ว กระบวนการผสมพันธุ์ แบบธรรมชาติ จะให้ลูกที่ไม่ดีต่างจากพ่อแม่สักเท่าใดดังเช่นที่เราสุ่มมาและพบว่า มักจะให้ยีนชุดที่ไม่ดี และไม่มีคุณสมบัติดังใจหมาย คุณสมบัติดีเลิศที่เราปรารถนา เช่น ความหอมของข้าวขาวดอกมะลิ ที่ได้มาจากยีนเพียง 2-3 ยีน จากยีนทั้งหมดของข้าวที่มีจำนวนเรือนหมื่น ในการคัดเลือกพันธุ์ข้าว เราต้องนำยีนมาผสมและคัดแยกยีนเหล่านั้นโดยการสุ่มตัวอย่าง ด้วยความหวังว่าจะพบยีนพิเศษ ที่มีอยู่เป็นจำนวนน้อยมาก มีนักวิทยาศาสตร์ เคยเปรียบไว้ว่า เหมือนกับรับสมัครคนงานมาจากครึ่งหมู่บ้าน เพื่อหวังว่าจะได้ช่างไม้ฝีมือดี สักเพียง 2-3 คน เท่านั้น การคัดเลือกพันธุ์ได้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เราจึงมีพืชและสัตว์ชนิดใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติตาม ความต้องการ
ความกลัวในสี่งที่ไม่รู้ ... ก็เป็นธรรมดา
เทคโนโลยีการตัดและต่อยีน หรือพันธุวิศวกรรม ทำให้เรามั่นใจได้มากว่าจะได้สิ่งมีชีวิต สายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติดังที่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ เพราะเราสามารถเลือกตัดยีนดีๆ ที่เราได้ศึกษาจนรู้แล้วว่ามีอำนาจสั่งการอย่างไร และสามารถนำไปติดให้กับสิ่งมีชีวิตที่เราต้องการ จะปรับปรุงคุณสมบัติได้ถูกต้องตรงตามตำแหน่งที่ต้องการ หากเปรียบเทียบกับวิธีการเดิมๆ ที่ใช้อยู่ในการผสมพันธุ์พ่อและแม่ เพื่อให้ได้ลูกพันธุ์ดีที่มีลักษณะพิเศษหรือแตกต่างไปจากเดิม วิธีการใหม่นี้ก็เหมือนกับรับสมัครช่างไม้ฝีมือดีมาเสียแต่ต้นมือ ดังนั้น จึงไม่ต้องเสี่ยงมากในการที่จะได้ยีนที่เราไม่ใช้ปะปนมากับยีน ที่เราต้องการใช้ อย่างไรก็ตามความจริงที่ว่า ยีนจำลองพันธุ์ สามารถ ได้มาจากสิ่งมีชีวิตต่างๆ กันได้ก่อให้เกิดความกังวล เกี่ยวกับผลกระทบ ที่ไม่ต้องการหรืออาจเป็นอันตราย ต่อผู้บริโภคหรือ สิ่งแวดล้อม
• ผลิตภัณฑ์ตัดต่อยีนนี้สามารถให้ผลผลิตที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
แก่ผู้บริโภคหรือไม่ ก็เป็นคำถามที่ดี ???
• พืชข้ามพันธุ์อาจจะทำให้แมลงที่เป็นประโยชน์หมดไปพร้อมๆ กับแมลงที่เป็นศัตรูด้วย
หรือไม่ น่าคิด ????
• ยีนที่ถูกถ่ายมาจากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง และนำเข้าไปใส่ในพืชชนิดหนึ่งจะมีโอกาสเล็ดรอด ไปยังพืชอื่นๆ ได้อีกหรือไม่ ???
อันที่จริงก็เหมือนกับการแนะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาในโลกนี้นั่นเอง แน่นอนทีเดียว เราควรจะมีการประเมินความเสี่ยงใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างจริงจังก่อนที่จะยอมรับเทคโนโลยีนั้น น่าเสียดายที่การถกเถียงเกี่ยวกับความเสี่ยงทั้งหลายที่เกี่ยวพันกับการใช้ผลิตภัณฑ์ตัดต่อยีนได้ถูกทำ ให้ยุ่งเหยิงไปหมดด้วยเหตุการณ์บางเรื่อง ซึ่งแม้จะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน แต่ก็ได้สร้างปัญหาในสังคม ได้ทำให้ผู้คนเกิดความสับสน เป็นกังวล และมีข้อข้องใจขึ้นในหมู่ ประชาชนทั่วไป
เมื่อ 50 กว่าปีมาแล้วในยุคของฮิตเลอร์จอมเผด็จการแห่งนาซี เขาได้ทำการทดลองอย่างไร้ จริยธรรมกับบรรดานักโทษ เป็นความพยายามสร้างสายพันธุ์มนุษย์สุดพิศดารขึ้นมา ด้วยความที่ ชาตินิยมจัด ซึ่งส่งผลให้ผู้คนเกิดความสะพรึงกลัวในเรื่องมนุษย์สายพันธุ์ใหม่
อีกเรื่องที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวยุโรปเป็นอย่างดี ก็คือ "โรควัวบ้า" ที่มีสาเหตุมาจาก อาหารเลี้ยงวัวที่ถูกปนเปื้อนด้วยโปรตีนที่มีต่อโรค อันที่จริง ทั้งความพยายามที่ผิดปกติของฮิตเลอร์ และโรควัวบ้าไม่มีความเกี่ยวพันกับข้อโต้แย้งของการตัดต่อยีนในขณะนี้ แต่สมาชิกบางคนในสังคม ยังอดข้องใจไม่ได้ว่าอาจมีสารที่เป็นอันตรายหลุดรอดมาจากกระบวนการตัดต่อยีนด้วยความรู้เท่า ไม่ถึงการณ์ ความกังวลเหล่านั้นถูกหยิบยกขึ้นมาในระหว่างนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันตั้งแต่แรกเริ่มที่มี การทดลองทางพันธุวิศวกรรมในยุคต้น ค.ศ. 1970 หลังจากที่ได้มีการศึกษาวิจัยกันอย่างละเอียด รอบคอบทุกด้าน จึงได้มีการจัดทำมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยขึ้นและเป็นที่ตกลงกันได้ เรียบร้อย และก็ยังใช้อยู่ตราบจนทุกวันนี้ ที่สำคัญคือมาตรการกักกัน ให้สิ่งมีชีวิตนั้นอยู่ภายในพื้นที่ ที่กำหนดเท่านั้น และ "การใส่กุญแจ" ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตไม่สามารถ อยู่รอดได้นอกห้องปฏิบัติการ
ในหลายๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทย กฎและระเบียบต่างๆ ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ ทั้งในระดับชาติและระดับสถาบันเพื่อที่จะให้มั่นใจได้ว่า ในกระบวนการโยกย้ายถ่ายเทยีนระหว่าง สิ่งมีชีวิตนั้นมี "ความปลอดภัยทางชีวภาพ " ผลที่ได้รับ ก็คือ ในช่วงเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ของเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม ยังไม่เคยมีกรณีอันตรายที่เกิดจากการปล่อยผลิตภัณฑ์ GMOs ออกไปโดยไม่ตั้งใจเลย
การนำผลิตภัณฑ์ จีเอ็มโอ เข้าสู่สิ่งแวดล้อมโดยจงใจ
เนื่องจากความกังวลในเรื่องผลกระทบจากการปล่อยให้สิ่งมีชีวิตที่มีการตัดต่อยีนออกไปสู่ธรรมชาติ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นพืชข้ามพันธุ์ สัตว์ข้ามพันธุ์ รวมทั้งจุลินทรีย์ที่ถูกตัดต่อยีนก็ตาม ต้องมีกฎเกณฑ์ ที่เข้มงวดก่อนจะถูกปล่อยออกไป ผลกระทบที่ยีนชุดใหม่อาจมีต่อสภาพแวดล้อม และผลดีที่ได้รับ จะต้องถูกนำไปศึกษาอย่างรอบคอบในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ได้แก่ ในห้องปฏิบัติการในโรงเรือนกระจก และในภาคสนาม ถ้าผ่านการทดสอบทั้งสามสนาม ก็ถือว่า สิ่งมีชีวิตข้ามพันธุ์เหล่านั้นสามารถนำไปใช้ นำไปบริโภคหรือนำไปปลูกได้ในปริมาณมากๆ โดยทั่วไป สิ่งมีชีวิตข้ามพันธุ์มีแนวโน้มที่จะอ่อนแอกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันที่มียีนปกติ เพราะการมียีนแปลกปลอมเข้าไปปะปน ดังนั้นโอกาสที่มันจะไป แข่งขันกับพันธุ์เดิมที่มีอยู่มากมายในธรรมชาติจึงเป็นไปได้ ยากมาก อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถทึกทักเอาว่าเป็น "โชคดี" ที่จะประสบ เสมอไป เพราะโอกาสที่ยีนจะหลุดรอดออกไปจากสิ่งมีชีวิตข้ามพันธุ์ แล้วเข้าไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่นในสิ่งแวดล้อมนั้น ถึงแม้จะมีน้อยมาก แต่ก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องนี้ไปโดยสิ้นเชิงความเสี่ยงเหล่านี้และผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจะต้องมีการ ประเมินอย่างละเอียด รอบคอบ ตัวอย่างเช่น เมื่อเราปลูกพืชไร่ ชนิดหนึ่งที่มีการใส่ยีนที่มีกลไกในการสู้รบหรือต่อต้านกับ สารฆ่าหญ้า เมื่อถึงเวลาเรากำจัดวัชพืชจะได้ไม่มีอันตรายกับพืชไร่ชนิดนั้น อาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า วัชพืชที่ถูกกำจัด สามารถรับกลไกพิเศษนั้นเข้าไปในยีนของมันได้ แล้วกลายเป็นวัชพืชพันธุ์ใหม่ ที่มีภูมิต้านทานต่อสารกำจัด วัชพืชทั้งหลาย ผลข้างเคียงอื่นๆ ของการใช้สิ่งมีชีวิตข้ามพันธุ์ก็จำเป็นต้องนำมาพิจารณาให้ถ่องแท้ ยีนที่ตัดมา เพียงยีนเดียวเมื่อถูกใส่เข้าไปในพืชไร่เพื่อฆ่าหรือกำจัดแมลงศัตรูพืชอาจจะมีผลเสียบางอย่าง ที่เรา คาดไม่ถึงกับแมลงชนิดอื่นๆ มีส่วนช่วยถ่ายละอองเกสรให้กับดอกไม้ และประโยชน์ ต่อธรรมชาติ ผลที่ไม่ได้คาดคิดและไม่ได้ต้องการเหล่านี้จะต้องถูกนำไปศึกษาอย่างละเอียดก่อนที่จะปล่อยพืชไร่ สายพันธุ์ใหม่เข้าไปในท้องทุ่งหรือในธรรมชาติ
การศึกษาผลกระทบของผลิตภัณฑ์ตัดต่อยีนที่มีต่อสิ่งแวดล้อมนั้นจำเป็นยิ่งและต้องดำเนินการ อย่างเข้มงวดโดยหน่วยงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมโดยตรง ในแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทย การนำพืชข้ามพันธุ์ไปปลูกได้ก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติกักพืช ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนี้มีกรณีให้ศึกษา และทดสอบได้กรณีหนึ่ง คือ ฝ้ายตัดต่อยีนที่นำเข้ามาในประเทศไทย โดยบริษัทมอนซานโต เพื่อที่จะขายเมล็ดพันธุ์ฝ้ายดังกล่าวที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถฆ่าหนอนเจาะสมอฝ้าย ศัตรูตัวสำคัญ ของฝ้ายได้ แต่ก็มีคำถามตามมาเกี่ยวกับ ความเป็นกลางของคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นโดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ในขณะที่เรื่องนี้ยังไม่จบสิ้น คงต้องใช้หลักการที่ว่า นักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่อง ดังกล่าว องค์กรประชาชนที่เป็นกลางผู้ซึ่งตระหนักถึงประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ จะต้องมามี ส่วนเกี่ยวข้องด้วยในการตัดสินใจว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับผลิตภัณฑ์เหล่านั้น
กรณีติดฉลากให้ชัดเจน ติดหรือไม่ติดดี ???
เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ความปลอดภัยในเรื่องผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับมนุษย์นั้นสำคัญยิ่ง
องค์กร เช่น คณะกรรมการอาหารและยา หรือองค์กรอื่นในลักษณะเดียวกันของทุกประเทศ จะเป็นผู้รับผิดชอบ หลักการที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป คือ มีเกณฑ์ความปลอดภัยเดียวที่นำไปใช้ กับผลิตภัณฑ์ทั่วไปและผลิตภัณฑ์ตัดต่อยีน สาเหตุที่ไม่มีการแบ่งแยกประเภทของเกณฑ์ ก็เพราะ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการตัดต่อยีนหรือไม่ตัดต่อยีน ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ สารเคมีที่ถูก นำเข้าไปใน สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งโดยผ่านยีนนั้นก็คือสารเคมีที่มาจากธรรมชาติอยู่แล้วเหมือนกันทุกประการ เพียงแต่วิธีการผลิตเท่านั้นที่แตกต่างกัน
เมื่อศึกษาภูมิหลังของกลียุคในอดีต เช่น การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในทางผิดๆ เพื่อเป้าหมายทางการเมือง เช่นในกรณีของ ฮิตเลอร์ หรือ ความผิดพลาดจากการใช้สารอาหารไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดโรควัวบ้าก็พอเข้าใจกันได้ว่าเหตุใดประชาชนในยุโรปและที่อื่นๆ จึงได้เป็นกังวลมาก กับการใช้หรือบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากการตัดต่อยีน แม้ในประเทศที่ไม่มีเรื่องในอดีตกับเขา ผู้คนบางกลุ่มในสังคมก็อาจจะต่อต้านผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ง่ายๆ เพียงเพราะว่ามันไม่เป็นไปตามธรรมชาติ หรือฝืนธรรมชาติแค่นั้นเอง ถึงแม้ว่าจะมีเหตุผลมาชี้แจงแถลงไขอย่างไรว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ได้ถูกศึกษาวิจัย มาเป็นเวลานานและออกแบบมาอย่างดีก็ตาม บางทีเราคงต้องทำใจว่า มันขึ้นอยู่กับการ ไตร่ตรองของสาธารณชนเองว่าจะยอมรับสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ต่างหาก หน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่มีอำนาจ ในบางประเทศจึงได้เรียกร้องให้มีการติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มาจากวิธีการ ตัดต่อยีน อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องนี้ได้สร้างความยุ่งยากบางประการให้กับผู้ผลิต หรือ ผู้ประกอบการ
• มีคำถามที่ว่า เมื่อมีการติดฉลากว่าเป็นผลิตภัณฑ์จาก GMOs แล้ว จะทำให้เสียลูกค้าหรือเปล่า ??
• ผู้ผลิตต้องติดฉลากทั้งนั้นถึงแม้ว่ามีเพียงองค์ประกอบเล็กๆ
ของผลิตภัณฑ์ที่มาจากกระบวนการ ตัดต่อยีนก็ตาม อย่างนั้นหรือ ???
• การติดฉลากยังจำเป็นอยู่หรือไม่ สำหรับสินค้า เช่น น้ำมันถั่วเหลือง ที่ทำมาจาก ถั่วเหลืองตัดต่อยีนเพื่อกำจัดแมลงที่เป็นศัตรูพืชซึ่งเหมือนกับน้ำมันจากถั่วเหลือง-
ธรรมดาทุกประการ
สำหรับประเทศที่ส่งออกอาหารเป็นหลักเช่นประเทศไทย การเรียกร้องให้มีการติดฉลาก ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ สร้างความยุ่งยากที่อยู่นอกเหนือความปลอดภัยของผู้บริโภคไปเสียแล้ว สิ่งนี้อาจ
ถือว่าเป็น "กำแพงการค้า" ได้ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าปัญหานี้จะแก้ได้ด้วยตัวของมันเอง ทีละน้อยๆ เมื่อกาลเวลาผ่านไปในประเทศสหรัฐอเมริกามีผลิตภัณฑ์ตัดต่อยีนออกไปสู่ท้องตลาด และมีผู้บริโภคมากมายซึ่งมีทั้งที่เป็นอาหารสด เช่น มันฝรั่ง และผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ส่วนประกอบของอาหาร สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นหลายปีมาแล้ว โดยไม่มีปัญหาด้านความปลอดภัย ในที่สุดเมื่อผู้คนทั่วโลกถูกชักนำให้เชื่อในเรื่องความปลอดภัย ความกลัวก็หายไป ส่วนกรณีอื่นๆ เช่น เรื่องสิทธิของผู้บริโภค ที่จะรู้นั้นต้องยอมรับ และการติดฉลากผลิตภัณฑ์ก็ต้องทำตาม ความเรียกร้องของประทศต่างๆ ที่นำผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ไปจำหน่าย
ในสหัสวรรษหน้า ถ้าความหวาดระแวงเกี่ยวกับความปลอดภัย ของผลิตภัณฑ์ตัดต่อยีนที่มีต่อผู้บริโภคโดยตรงหรือต่อสิ่งแวดล้อม ถูกทำให้ผ่อนคลายไป ด้วยผลการพิสูจน์และหลักฐานที่แน่นหนา ศตวรรษใหม่ของเทคโนโลยีชีวภาพคงมาถึงและส่งผลให้พลโลก ได้ตักตวงผลประโยชน์ ได้อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยีนี้ ในบรรดา เทคโนโลยีทั้งหลายของโลกอนาคตในสหัสวรรษใหม่ เทคโนโลยีชีวภาพจะมาแรงที่สุด อาจจะทรงพลังยิ่งใหญ่กว่าเทคโนโลยีสารสนเทศด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะในด้านการสาธารณประโยชน์แก่มวลมนุษย์ ความแตกต่างระหว่างเทคโนโลยีทั้งสอง คือ เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างไร้พรมแดนและก่อให้เกิดความกระตือรือร้น ที่จะแสวงหาความรู้ ในขณะที่เทคโนโลยีชีวภาพซึ่งมีศักยภาพสูงในการเนรมิตชีวิตใหม่ ข้ามพันธุ์ได้ ได้ก่อให้เกิดความหวาดระแวงว่าอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้ หากไม่ระวังให้ดี
ประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศยังมีความตื่นตระหนกเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพ จากผลิตภัณฑ์ตัดต่อยีนอยู่อีก ในขณะเดียวกันก็กลัวเสียโอกาสที่จะพัฒนาและใช้ประโยชน์ จากพันธุวิศวกรรม ซึ่งมีสาเหตุมาจากมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เวลานี้บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่คิดค้นเทคนิคในการโยกย้ายถ่ายเทยีน รู้จักวิธีที่จะทำให้ตลาด สำหรับผลิตภัณฑ์หรือสินค้าของเขามีความมั่นคง เช่น การใส่ยีนที่มีคำสั่ง "ปิดประตูล็อค" เพื่อไม่ให้ เมล็ดพันธุ์ที่เกิดจากการตัดต่อยีนถูกนำไปแพร่ขยายพันธุ์ได้อีกในธรรมชาติโดยเกษตรกรทั่วไป ทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาหมดโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากพันธุ์ใหม่ได้อย่างยั่งยืน การถกเถียงในเรื่อง GMOs ในขณะนี้ จำเป็นที่จะต้องให้หลายๆ ฝ่ายที่มีภูมิหลังแตกต่างกันเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่มีแต่ นักวิทยาศาสตร์เท่านั้น ตราบใดที่ประเด็นดังกล่าวยังมิได้มีการศึกษา อย่างลึกซึ้งและถกเถียงกัน ให้กระจ่างชัด และมิได้มีการลงมือปฏิบัติที่เป็นตัวอย่างให้เห็นประโยชน์ ที่แท้จริง ประเทศกำลังพัฒนา เหล่านี้ก็ยังไม่ยอมรับเทคโนโลยีชีวภาพและไม่พยายามที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ GMOs ขึ้นมาให้ได้เอง ซึ่งอาจเป็นการเสียโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ได้
วิสัยทัศน์สำหรับอนาคต
โฉมหน้าของโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร หากมีการใช้ผลิตภัณฑ์ตัดต่อยีนกันไปทั่ว?
ประชากรโลก ไม่ว่ารวยหรือจนก็เหมือนกัน คือ ล้วนต้องการอาหารมากขึ้นและอาหาร ที่มีคุณภาพดีขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต พวกเขาอยากได้รับบริการด้านสุขภาพมากขึ้นและดีขึ้น ทั้งในระดับส่วนบุคคลและจากรัฐ และต้องการให้มีวิธีการป้องกันมลพิษจากอุตสาหกรรม อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์ตัดต่อยีนอยู่อีก การนำไปใช้กลับจะเพิ่มพูนทวีในอนาคตอันใกล้ เพราะ GMOs เป็นผลิตภัณฑ์แห่งการรอคอยของมนุษยชาติที่สามารถตอบสนองเป็นอย่างดีทั้งในด้านการผลิต และการให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเร็ววันนี้ที่มีแรงดึงทางเศรษฐกิจให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ตัดต่อยีนและบริการโฉมใหม่ได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม ประชากรใน โลกที่สามหรือในประเทศที่กำลังพัฒนาต่างหาก ที่น่าจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เหล่านี้ไป เนื่องจากเขาเหล่านั้น ต้องการอาหารที่มากกว่าและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อยากได้รับการดูแลสุขภาพที่ดี และต้องการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่พึงปรารถนา แน่นอนทีเดียว สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น ในทางตรงกันข้ามพวกเขากลับถูกปั่นจนหัวหมุนและสับสนไปหมด เกี่ยวกับความปลอดภัยและ ประโยชน์ที่พึงได้รับ สาเหตุที่แท้จริงคงมาจากสถานภาพทางเศรษฐกิจ ที่ย่ำแย่ของพวกเขา และการขาดพื้นฐานความรู้ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ และการหวาดระแวง ความเสี่ยงจากเทคโนโลยี น่าจะมีความพยายามอย่างจริงจังให้ประชาชนในประเทศที่กำลังพัฒนา ได้พิจารณาถึงข้อดีข้อเสียเพื่อนำเทคโนโลยีชีวภาพไปใช้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในทุกๆ ด้าน ที่เป็นไปได้และให้เกิดผลเสียให้น้อยที่สุด
ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ปลอดภัยอันเป็นผลมาจากกระบวนการตัดต่อยีนรวมไปถึงพืชและสัตว์ สายพันธุ์ใหม่ซึ่งได้ถูกสั่งการให้สามารถปรับตัวได้ดีกับสภาวะที่โหดๆ เช่น ความแห้งแล้ง การขาดแคลนปุ๋ย สารอาหาร และศัตรูที่มารบกวนจำนวนมาก พืชและสัตว์เหล่านี้สามารถทำให้ เกิดประโยชน์ได้มากมายไม่เพียงแต่เรื่องอาหารยังรวมไปถึงเรื่องเสื้อผ้าและวัสดุอื่นๆ แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ ศักยภาพของเทคโนโลยีการตัดต่อยีนที่จะทำให้เรามีวิธีผลิตวัคซีน ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ และผลิตยารักษาโรค รวมทั้ง สารอาหาร ที่จะมีราคาย่อมเยาลงไปมาก และมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เช่น กล้วยที่มีวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงอยู่ในตัว น้ำนมที่มีสารป้องกันโรคมาเลเรีย ข้าวที่มีวิตามินเอเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของศักยภาพของผลิตภัณฑ์ GMOs ที่เราพอมองได้
จึงเป็นที่น่าเสียดายมาก สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายหากขาดโอกาสที่จะได้รับ ผลประโยชน์ต่างๆ จากผลิตภัณฑ์ GMOs เหล่านี้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในกลุ่ม ที่จะไปจูงใจให้บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหันมาให้ความสนใจและผลิตขึ้นมา เพราะเขาเห็นการณ์ไกลว่าคงขาดกำลังซื้อจากกลุ่มลูกค้าในประเทศค่อนข้างยากจน และน่าเสียดายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การที่บรรดาประเทศที่กำลังพัฒนาหรือ ด้อยพัฒนา หันมารวมหัวกันต่อต้านผลิตภัณฑ์ตัดต่อยีน ยิ่งทำให้พวกเขาถอยห่างออกไปจากผลประโยชน์ ที่ตนพึงจะได้รับมากขึ้นทุกทีๆ โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย เหล่านั้นเองว่าจะพยายามแก้ปัญหาของตัวเองหรือไม่โดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยความร่วมมือ จากประเทศที่พัฒนาแล้วและหน่วยงานหรือองค์กรระหว่างประเทศ บริษัทข้ามชาติหลายแห่ง ที่มีความเชี่ยวชาญสูงก็น่าให้ความร่วมมือด้านวิชาการได้ และการกระทำดังกล่าว ยังก่อให้เกิดมิตรภาพอันน่าประทับใจยิ่งไปกว่าการเปิดตลาดสินค้า GMOs แต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ความร่วมมือนี้ต้องไม่มาในลักษณะเห็นแก่ประโยชน์ของบริษัทเท่านั้น แต่เห็นประโยชน์ ของสังคมโดยรวมและชี้ให้เห็นความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจมีเกิดขึ้นได้ด้วย อย่างเป็นกลาง
เราได้เดินทางมาไกลโขถ้าเริ่มต้นนับเส้นทางสายนี้จากปาสเตอร์และเมนเดล ศตวรรษหนึ่งได้ผ่านไปแล้ว ปัจจุบันเทคโนโลยีชีวภาพใหม่ๆ มีพลังมากเสียจนอาจกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องที่เราต้องนำไปพิจารณาอย่างรอบคอบถึงการประยุกต์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยคำนึงถึงเรื่องของจริยธรรม สิ่งแวดล้อมและในด้านอื่นๆ ของการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ที่เกี่ยวข้อง และการนำไปใช้จริง
เทคโนโลยีชีวภาพก็เช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เคยถูกแนะนำมาก่อน สิ่งเหล่านี้ มาพร้อมกับ อันตราย หากตกไปอยู่ในมือของฝ่ายที่ชั่วร้ายหรือฝ่ายผู้ใช้ที่ตั้งใจมาก แต่สายตาสั้น ไร้วิสัยทัศน์ เราต้องการที่จะพิจารณาให้ลึกซึ้งในขณะที่เรามุ่งไปข้างหน้า แต่เราก็หยุดไม่ได้ จำต้องรุดไป เพื่อโลกนี้ โดยเฉพาะโลกที่กำลังพัฒนาซึ่งมักถูกโจมตีจากทุกทิศทุกทาง ด้วยปัญหาต่างๆ อันเกี่ยวกับการอยู่รอด ของมนุษยชาติที่ทะยอยมารุมเร้าและหนักขึ้นกว่าเดิม เราจึงรอต่อไปอีกไม่ได้แล้ว
วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น