สามารถโหลดข้อมูลได้ทีนี้
http://th.upload.sanook.com/A0/310fff16a68ba2aa13ac14ab27266665
ตัวอย่างสถานที่น่าเที่ยว
1. อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง
อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ตั้งอยู่บนเทือกเขาถนนธงชัย มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปายจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 179.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 112,187.5 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาและภูเขาสูงสลับซับซ้อน ภูเขาที่สูงที่สุด คือ ดอยช้าง เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีลำห้วยน้อยใหญ่มากมาย ฤดูหนาวอากาศเย็น ลมแรง มีฝนตกชุกในเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูร้อนอากาศเย็นสบาย อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 34 องศาเซลเซียส
สถานที่ที่มีผู้นิยมมาท่องเที่ยว ได้แก่
จุดชมวิวบริเวณห้วยน้ำดัง (ดอยกิ่วลม) ตำบลกึ๊ดช้าง อำเภอแม่แตง อยู่บริเวณที่ทำการอุทยาน เป็นจุดชมวิวที่สวยงามและมีชื่อเสียงมาก มองเห็นดอยเชียงดาว คอยชมพระอาทิตย์ขึ้นและชมทะเลหมอกในช่วงเช้าตรู่ได้ และในช่วงปลายฤดูหนาวดอกไม้กำลังบานสวยงามมาก
หมอกที่เกิดที่นี่คือ หมอกที่เกิดขึ้นในหุบเขา (Radiation Fog) เนื่องจากเวลากลางคืนในหุบเขาอุณหภูมิจะลดต่ำลง ทำให้เกิดการกลั่นตัวเป็นละอองน้ำ และปรากฏเป็นทะเลหมอกในเวลาเช้าหรือหลังฝนตก
ใกล้ ๆ กับที่ทำการจะมี เส้นทางศึกษาธรรมชาติเอื้องเงิน มีระยะทาง 1,470 เมตร ความลาดชันปานกลาง ใช้เวลาในการเดินประมาณ 1 ชั่วโมง
การเดินทาง ไปยังอุทยานฯ จากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง ระยะทางประมาณ 37 กิโลเมตร ถึงตลาดแม่มาลัย อ.แม่แตง แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1095 สายเชียงใหม่-ปาย อีกประมาณ 65 กิโลเมตร ถึงด่านตรวจอุทยานฯ ซึ่งอยู่ด้านขวามือเข้าไปอีก 6 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ และหากเดินทางต่อไปอีก 1 กิโลเมตร ถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หรือเดินทางโดยรถประจำทางจากสถานีขนส่งเชียงใหม่ สายเชียงใหม่-ปาย อัตราค่าโดยสาร 40 บาท/คน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง
ห้วยน้ำรู หรือ ดอยสามหมื่น ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว มีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลีซอ ทัศนียภาพสวยงาม และชมการปลูกกาแฟและไม้ผลเมืองหนาว
การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 130 กิโลเมตร ใช้ถนนสายเชียงใหม่-ห้วยน้ำดัง และเลยเข้าไปทางห้วยน้ำดังอีก 20 กิโลเมตร ทางยังไม่ลาดยางใช้ได้เฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง มีบ้านพักแต่ต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน ที่ส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 2579 7586-7
นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่อยู่ในเขตอุทยานฯ ได้แก่ น้ำตกห้วยน้ำดัง โป่งน้ำร้อนท่าปาย น้ำตกแม่เย็น
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก อุทยานฯมีบ้านพักบริการ รวมทั้งสถานที่กางเต็นท์ ร้านอาหาร และศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รายละเอียดติดต่อ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง หมู่ที่ 5 ตำบลกี๊ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 50300 โทร. 0 5347 1669 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th
2.วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
เดินทางตามถนนห้วยแก้ว ผ่านอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ไปตามทางคดเคี้ยวขึ้นเขา ระหว่างทางจะมองเห็นตัวเมืองเชียงใหม่อยู่เบื้องล่าง ระยะทางจากเชิงดอยถึงวัดประมาณ 11 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง วัดพระธาตุดอยสุเทพนี้เป็นปูชนียสถานคู่เมืองเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมาที่จังหวัดนี้จะต้องขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุกันทุกคน ถ้าหากใครไม่ได้ขึ้นไปนมัสการแล้ว ถือเสมือนว่ายังมาไม่ถึงเชียงใหม่ มีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุในวันเพ็ญวิสาขบูชาทุกปี
นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นบันไดนาคไป 300 ขั้น เพื่อไปยังวัด หรือใช้บริการรถกระเช้าขึ้น-ลงดอยสุเทพได้ ระหว่างเวลา 05.30-19.30 น. นักท่องเที่ยวที่ไม่มีรถส่วนตัวสามารถเดินทางมาที่วัดโดยรถสองแถวประจำทางจากบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้านถนนห้วยแก้ว ซึ่งบริการระหว่างเวลาประมาณ 05.00-17.00 น.
3.อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
แต่เดิมดอยอินทนนท์มีชื่อว่า “ดอยหลวง” หรือ “ดอยอ่างกา” ดอยหลวง หมายถึงภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกว่าดอยอ่างกานั้น มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตก 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ แต่ก่อนนี้มีฝูงกาไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่า อ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่า ดอยอ่างกา
ดอยอินทนนท์นี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยซึ่งพาดผ่านจากประเทศเนปาล ภูฐาน พม่า และมาสิ้นสุดที่นี่ สิ่งที่น่าสนใจของดอยนี้ไม่เพียงแต่เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศเท่านั้น แต่สภาพภูมิประเทศและสภาพป่าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าดงดิบ ป่าสน ป่าเบญจพรรณ และอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในฤดูหนาวจะมีหมอกปกคลุมเกือบทั้งวันและบางครั้งน้ำค้างยังกลายเป็นน้ำค้างแข็ง สิ่งต่าง ๆเหล่านี้เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้มีผู้มาเยือนที่นี่อย่างไม่ขาดสาย
การเดินทาง ระยะทางจากตัวเมืองขึ้นไปจนถึงยอดดอยอินทนนท์ประมาณ 106 กิโลเมตร ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามทางหลวงหมายเลข 108 เชียงใหม่-จอมทอง ถึงหลักกิโลเมตรที่ 57 ก่อนถึงอำเภอจอมทอง ๑ กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1009 สายจอมทอง-อินทนนท์ ระยะทาง 48 กิโลเมตรถึงยอดดอยอินทนนท์ เป็นถนนลาดยางอย่างดีแต่ทางค่อนข้างสูงชัน รถที่นำขึ้นไปจะต้องมีสภาพดี ผู้ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวสามารถนั่งรถสองแถวสายเชียงใหม่-จอมทองบริเวณประตูเชียงใหม่ จากนั้นขึ้นรถสองแถวที่หน้าวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารหรือที่น้ำตกแม่กลาง ซึ่งจะเป็นรถโดยสารประจำทางไปจนถึงที่ทำการอุทยานฯตรงหลักกิโลเมตรที่ ๓๑ และหมู่บ้านใกล้เคียง แต่หากต้องการจะไปยังจุดต่าง ๆต้องเหมาไปคันละประมาณ 800 บาท
มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 9 ของเส้นทางหมายเลข 1009 มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ และมีนิทรรศการเกี่ยวกับธรรมชาติ สัตว์ป่า และอื่น ๆ
บริเวณที่ทำการมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม สำรองที่พักล่วงหน้าอย่างน้อย 1 อาทิตย์ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. ๐ ๒๕๖๒ ๐๗๖๐ หรือ เว็บไซต์ www.dnp.go.th อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โทร. ๐ ๕๓๓๕ ๕๗๒๘, ๐ ๕๓๓๑ ๑๖๐๘ เว็บไซต์ www.doiinthanon.com
ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ
น้ำตกแม่ยะ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงามมากแห่งหนึ่ง เพราะน้ำซึ่งไหลลงมาจากหน้าผาที่สูงชัน 280 เมตร ลงมากระทบโขดหินเป็นชั้น ๆ เหมือนม่าน แล้วลงไปรวมกันที่แอ่งน้ำเบื้องล่าง น้ำใสเย็นเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ อีกทั้งบริเวณรอบ ๆ น้ำตกเป็นป่าเขาอันสงบเงียบ และมีศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวตั้งอยู่ด้วย บริเวณน้ำตกสะอาดและจัดการพื้นที่ได้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม การเดินทาง จากทางแยกเข้าทางหลวง 1009 ไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไป 14 กิโลเมตร แ
น้ำตกแม่กลาง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ชั้นเดียว สูงประมาณ 100 เมตร ต้นน้ำอยู่บนดอยอินทนนท์ มีน้ำไหลตลอดปี มีความสวยงามตามธรรมชาติ การเดินทาง จากทางแยกเข้าทางหลวง 1009 ไปอีก 8 กิโลเมตร แยกซ้าย 500 เมตร เป็นทางลาดยางตลอดละต้องเดินเท้าเข้าไปอีก 200 เมตร
ถ้ำบริจินดา ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 8-9 ของทางหลวงหมายเลข 1009 ใกล้กับน้ำตกแม่กลาง จะเห็นทางแยกขวามือมีป้ายบอกทางไปถ้ำบริจินดา ภายในถ้ำลึกหลายกิโลเมตร เพดานถ้ำมีหินงอกหินย้อย หรือชาวเหนือเรียกว่า “นมผา” สวยงามมาก มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในถ้ำด้วย นอกจากนั้น ยังมีธารหิน เมื่อมีแสงสว่างมากระทบจะเกิดประกายระยิบระยับดังกากเพชรงามยิ่งนัก ลักษณะของถ้ำเป็นถ้ำทะลุสามารถมองเห็นภายในได้ถนัด เพราะมีอุโมงค์ซึ่งแสงสว่างลอดเข้ามา บริเวณปากถ้ำจะมีป้ายขนาดใหญ่ตั้งอยู่ อธิบายประวัติการค้นพบถ้ำนี้
น้ำตกวชิรธาร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เดิมชื่อ “ตาดฆ้องโยง” น้ำจะดิ่งจากผาด้านบนตกลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง ในช่วงที่มีน้ำมากละอองน้ำจะสาดกระเซ็นไปทั่วบริเวณรู้สึกได้ถึงความเย็นและชุ่มชื้น และสะพานไม้ที่ทอดยาวเข้าไปหาหน้าผานั้นจะเปียกลื่นอยู่ตลอดเวลา แต่หากเดินเข้าไปจนสุดจะได้สัมผัสกับความงามของน้ำตกมากที่สุด
การเดินทาง จากเชิงดอยอินทนนท์ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 21 จะเห็นป้ายบอกทางแยกขวาเข้าน้ำตก ลงไป 500 เมตร ถนนจะถึงที่ตัวน้ำตก อีกเส้นทางหนึ่งซึ่งเป็นเส้นทางเดิมอยู่เลยจากทางแยกแรกไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามป้ายและเดินจากลานจอดรถลงไปอีก 351 เมตร หากใช้เส้นทางนี้จะได้สัมผัสกับความงามของธรรมชาติรอบด้านตลอดทางเดิน
น้ำตกสิริภูมิ ไหลมาจากหน้าผาสูงชัน เป็นทางยาวสวยงามมาก สามารถมองเห็นได้จากบริเวณที่ทำการอุทยานฯ เป็นสายน้ำตกแฝดไหลลงมาคู่กันแต่เดิมเรียกว่า “เลาลึ” ตามชื่อของหัวหน้าหมู่บ้านม้งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ น้ำตกสิริภูมิตั้งอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงหมายเลข 1009 มีทางแยกขวามือเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร แต่รถไม่สามารถเข้าไปใกล้ตัวน้ำตกได้ นักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าเข้าไปบริเวณด้านล่างของน้ำตก
โครงการหลวงดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่ในบริเวณดอยอินทนนท์ ภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์เป็นสถานีวิจัยดอกไม้เมืองหนาวเป็นหลัก พรรณไม้ที่ปลูกมากที่สุดคือเบญจมาศ เพราะมีสีสันสดใส นอกจากนั้นยังมีโครงการวิจัยสตรอว์เบอรรี โครงการศึกษาและรวบรวมพันธุ์เฟินชนิดต่างๆ โครงการวิจัยกาแฟ โครงการวิจัยฝรั่งคั้นน้ำ ไม้ผล เช่น สาลี่ พลับ กีวี ทิบทิมเมล็ดนิ่ม ฯลฯ ไม้ดอก เช่น แกลดิโอลัส กุหลาบ เยอบีรา ฯลฯ ผัก เช่น พริกหวาน มะเขือเทศ เซเลอรี ฯลฯ
ยังมีพืชผักสมุนไพร และไม้ผลขนาดเล็ก ซึ่งจัดจำหน่ายภายใต้ตรา "ดอยคำ" รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาเทร้าต์สายรุ้ง นอกจากนี้ยังมีประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจ ได้แก่ การทำนาข้าวขั้นบันไดของเผ่ากะเหรี่ยง ประเพณีกินวอของชาวเผ่าม้งบ้านขุนกลาง และแหล่งท่องเที่ยวเพื่อชมความงามธรรมชาติรอบๆพื้นที่ รวมทั้งกิจกรรมดูนกและชมดาว โครงการหลวงฯ ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านขุนกลาง ตำบลห้วยหลวง เดินทางตามเส้นทางสู่ดอยอินทนนท์ ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงหมายเลข 1009 มีทางแยกขวามือเป็นทางลูกรังเข้าสู่โครงการฯ อีกประมาณ 1 กิโลเมตร โครงการหลวงฯนี้ รับผิดชอบส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้แก่กะเหรี่ยงและม้งในพื้นที่
พระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 41.5 ทางด้านซ้ายมือ สร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทย โดยพระมหาธาตุนภเมทนีดล สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อพ.ศ. 2530 และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ สร้างถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อพ.ศ. 2535 พระมหาธาตุทั้ง 2 องค์นี้ มีรูปทรงคล้ายคลึงกัน คือ ฐานเป็นรูป 12 เหลี่ยม มีระเบียงแก้วโดยรอบเป็น 2 ระดับ ยอดปลีขององค์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปบูชา รอบบริเวณสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของดอยอินทนนท์ได้อย่างสวยงาม
ยอดดอยอินทนนท์ จุดสิ้นสุดของทางหลวงหมายเลข 1009 เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย (2,565 เมตร) มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปี เป็นที่ตั้งสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศไทยและเป็นที่ประดิษฐานสถูปเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้ายซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้และหวงแหนดอยหลวงเป็นอย่างมากต้องการที่จะอนุรักษ์ไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน ท่านผูกพันกับที่นี่มากจึงสั่งว่าหากสิ้นพระชนม์ไปแล้วให้แบ่งเอาอัฐิส่วนหนึ่งมาไว้ที่นี่
ศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยว อยู่บริเวณใกล้กับยอดดอย แสดงนิทรรศการเรื่องราวของดอยอินทนนท์จากอดีตถึงปัจจุบัน ให้ความรู้ทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ ทางชีววิทยา ป่าไม้ สิ่งมีชีวิต ซึ่งบางชนิดหาดูได้ที่นี่แห่งเดียวในเมืองไทย ผู้มาเยือนจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย
น้ำตกห้วยทรายเหลือง เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำไหลแรงตลอดปี และไหลจากหน้าผาลงมาเป็นชั้น ๆ เข้าทางเดียวกับน้ำตกแม่ปาน ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่แจ่มประมาณ 16 กิโลเมตร แยกจากทางหลวงหมายเลข 1009 ตรงด่านตรวจกิโลเมตรที่ 38 ไปตามทางหลวงหมายเลข 1192 สายอินทนนท์-แม่แจ่ม ประมาณ 6 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางไปน้ำตก เข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นทางดินแดงในช่วงหน้าฝนทางลำบากมากต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ
น้ำตกแม่ปาน เข้าทางเดียวกับน้ำตกห้วยทรายเหลือง แต่อยู่เลยไปอีก 500 เมตร และจากจุดจอดรถต้องเดินต่อไปอีก 800 เมตร ใช้เวลาประมาณ 10 นาที จึงจะถึงตัวน้ำตก น้ำตกแม่ปานนับว่าเป็นน้ำตกที่ยาวที่สุดของเชียงใหม่ก็ว่าได้ น้ำจะตกลงมาจากหน้าผาซึ่งสูงกว่า 100 เมตร เป็นทางยาว ถ้ามองดูแต่ไกลจะเห็นสายน้ำยาวสีขาวตัดกับสีเขียวของต้นไม้ทำให้ดูเด่น น้ำที่ตกลงมายังเบื้องล่างกระทบโขดหินแตกเป็นฟองกระจายไปทั่วบริเวณทำให้มีความชุ่มชื้น เบื้องล่างมีแอ่งน้ำรองรับอยู่ สามารถพักผ่อนลงอาบเล่นได้
เส้นทางศึกษาธรรมชาติบนดอยอินทนนท์ กิ่วแม่ปาน ทางเข้าอยู่กิโลเมตรที่ 42 ด้านซ้ายมือ ระยะทางเดิน 3 กิโลเมตร เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติแท้จริง ระหว่างทางเดินจะพบป่าดิบเขา (Hill Evergreen) ก่อนผ่านเข้าสู่ทุ่งหญ้าซึ่งเคยเป็นพื้นที่ป่าถูกทำลาย เพื่อเป็นการศึกษาลักษณะการเกิดผลกระทบต่อเนื่องบริเวณรอยต่อระหว่างพื้นที่ป่าสมบูรณ์กับพื้นที่ถูกทำลาย หลังจากนั้นทางเดินจะเลาะริมผามีไอหมอกปลิวผ่านตลอดเวลา จะพบดอกกุหลาบพันปี หรือ Rhododendron (ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ขึ้นตามป่าในระดับสูง มีพันธุ์ดอกสีขาวและสีแดง เวลาออกดอกช่วงแรกมีลักษณะเหมือนปลีกล้วย ก่อนที่จะบานเต็มต้นในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ พบมากในแถบเทือกเขาหิมาลัยและเป็นไม้ประจำชาติของเนปาลด้วย) มองลงไปยังเบื้องล่างจะพบทัศนียภาพที่งดงามของอำเภอแม่แจ่ม
การใช้เส้นทางนี้ต้องลงทะเบียนขอรับใบอนุญาตให้ใช้เส้นทางโดยติดต่อที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์อุทยานฯ และควรจัดกลุ่มละไม่เกิน 15 คน ทางอุทยานฯไม่อนุญาตให้นำอาหารเข้าไปรับประทานในเส้นทางในช่วงฤดูฝน และจะปิดเส้นทางเพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัวไม่อนุญาติให้เข้าไปท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 30 ตุลาคม ของทุกปี เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานแห่งนี้ ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2545 เพราะมีการจัดการที่เน้นความเป็นธรรมชาติ ระหว่างทางมีป้ายสื่อความหมายให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว และประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการนำเที่ยว
อ่างกาหลวง เส้นทางนี้สำรวจวางแนวและออกแบบเส้นทางเดินโดย คุณไมเคิล แมคมิลแลน วอลซ์ นักสัตววิทยาและอาสาสมัครชาวแคนาดาประจำอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ทำงานทุ่มเทให้กับอินทนนท์ และได้เสียชีวิตที่นี่ด้วยโรคหัวใจ เส้นทางนี้มีระยะทาง 1,800 เมตร พื้นที่นี้เป็นหนองน้ำซับในหุบเขา จุดเด่นที่น่าสนใจ คือ ป่าดิบเขาระดับสูง ลักษณะของพรรณไม้เขตอบอุ่นผสมกับเขตร้อนที่พบเฉพาะในระดับสูง การสะสมของอินทรียวัตถุในป่าดิบเขา ลักษณะอากาศเฉพาะถิ่น พืชที่อาศัยเกาะติดต้นไม้ ลักษณะของต้นน้ำลำธาร และลักษณะของต้นไม้บนดอยอ่างกา เช่นต้นข้าวตอกฤาษีที่ขึ้นตามพื้นดิน (ข้าวตอกฤาษี เป็นพืชที่ต้องการความอุดมสมบูรณ์สูง จะขึ้นในที่สูงกว่า 2,000 เมตรเท่านั้น และเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มชื้น อากาศเย็น) กุหลาบพันปี เป็นต้น ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ อีกหลายเส้น เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติ กิโลเมตรที่ 38 และ เส้นทางศึกษาธรรมชาติกลุ่มน้ำตกแม่ปาน เป็นต้น แต่ละเส้นใช้เวลาในการเดินต่างกันตั้งแต่ 20 นาที – 7 ชั่วโมง และเหมาะที่จะศึกษาสภาพธรรมชาติที่ต่างกันด้วย ศึกษารายละเอียดเส้นทางได้จากที่ทำการอุทยานฯ และจะต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทางจากที่ทำการฯ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31
เพื่อป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การใช้สถานที่เพื่อการพักค้างแรมหรือจัดกิจกรรมอื่น ๆนอกเหนือจากบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ต้องขออนุญาตจากหัวหน้าอุทยานฯ เป็นลายลักษณ์อักษร
กิจกรรมดูนกบนดอยอินทนนท์ ศูนย์บริการข้อมูลนกอินทนนท์ที่ร้านลุงแดง ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 3 หน่วยจัดการต้นน้ำแม่กลาง ให้บริการด้านข้อมูลนกในดอยอินทนนท์ เช่น สมุดบันทึกการพบนกในดอยอินทนนท์ ภาพวาดลายเส้นของนักดูนก แผนที่เส้นทางดูนกดอยอินทนนท์ ภาพถ่าย สไลด์เกี่ยวกับนก ฯลฯ ให้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ช่วงที่นักดูนกนิยมมาดูนกกันเป็นฤดูหนาว นอกจากจะได้พบนกประจำถิ่นแล้ว ยังสามารถพบนกอพยพ เช่น นกปากซ่อมดง นกอุ้มบาตร นกเด้าลมหลังเทา นกเด้าลมหลังเหลือง นกเด้าลมดง นกเด้าลมหัวเหลือง นกจาบปีกอ่อนเล็ก นกจาบปีกอ่อนหงอน นกจาบปีกอ่อนสีแดง นกเดินดงสีน้ำตาลแดง ฯลฯ ทางศูนย์ฯจะบริการให้คำแนะนำตลอดจนเป็นสถานที่พบปะสนทนาระหว่างนักดูนก นักศึกษาธรรมชาติและบุคคลทั่วไป เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ดีต่อการอนุรักษ์และรักษาสภาพธรรมชาติ ทำให้ทราบถึงแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารของนกและสัตว์ป่าในดอยอินทนนท์
ให้คงอยู่ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป
วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น